
" ธรรมชาติงดงาม ข้าวหลามชวนลอง ส้มสีทองเลิศล้ำ จิตรกรรมสูงค่า ผ้าลายน้ำไหล ยิ่งใหญ่แข่งเรือ "
ประวัติ
ความเป็นมาของนามท่าวังผานั้นคือ ลักษณะของเกาะแก่งในแม่น้ำน่าน ซึ่งมีแต่หินผาและเป็นวังน้ำอยู่มากมาย ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างเมืองปัวกับเมืองน่านในอดีต หากมุมมองด้านโบราณคดีแล้ว พบชุมชนโบราณต้นกำเนิดเมืองน่านซึ่งมีอายุกว่า 800 ปี สร้างในสมัยพญาภูคา ปฐมกษัตริย์น่านแห่งราชวงค์ภูคา อยู่ในท้องที่ตำบลยม (รวมจอมพระด้วย) ซึ่งในปัจจุบันยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่ในท้องที่บ้านเสี้ยว บ้านลอมกลาง บ้านทุ่งฆ้อง บ้านนานิคม บ้านถ่อน จากสภาพชุมชนนั้นเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ เพราะมีการค้นพบกำแพงเมือง วัดร้าง และพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากในบริเวณลุ่มแม่น้ำย่าง ฉะนั้นท่าวังผาในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของเมืองปัว จึงเป็นเมืองเก่าแก่ ยุคเดียวกับสุโขทัย
เดิมอยู่ในเขตการปกครองอำเภอปัว ได้รับการยกฐานะเป็น กิ่งอำเภอท่าวังผา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505 และต่อมาได้รับการยกฐานะเป็น อำเภอท่าวังผา ตั้งที่ว่าการอยู่ ณ บ้านสบยาว หมู่ที่ 4 ตำบลท่าวังผา
ข้อมูลทั่วไป
อักษรไทย อำเภอท่าวังผา อักษรโรมัน Amphoe Tha Wang Pha จังหวัด น่าน
รหัสทางภูมิศาสตร์ 5506 รหัสไปรษณีย์ 55140
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ 702.204 ตร.กม. ประชากร 51,518 คน (พ.ศ. 2552) ความหนาแน่น 73.36 คน/ตร.กม.
ที่ว่าการอำเภอ
ที่ตั้ง ที่ว่าการอำเภอท่าวังผา หมู่ที่ 4 ถนนน่าน-ทุ่งช้าง ตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 55140
พิกัด 19°7′11″N, 100°48′35″E หมายเลขโทรศัพท์ 0 5479 9119

ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอท่าวังผาตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสองแคว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเชียงกลางและอำเภอปัว
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสันติสุขและอำเภอเมืองน่าน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอปง (จังหวัดพะเยา)
อำเภอท่าวังผาแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 10 ตำบล 91 หมู่บ้าน ได้แก่
1. ริม (Rim) 08 หมู่บ้าน 4,190 คน
2. ป่าคา (Pa Kha) 07 หมู่บ้าน 5,019 คน
3. ผาตอ (Pha To) 12 หมู่บ้าน 5,260 คน
4. ยม (Yom) 10 หมู่บ้าน 4,768 คน
5. ตาลชุม (Tan Chum) 10 หมู่บ้าน 6,539 คน
6. ศรีภูมิ (Si Phum) 11 หมู่บ้าน 6,572 คน
7. จอมพระ (Chom Phra) 10 หมู่บ้าน 5,369 คน
8. แสนทอง (Saen Thong) 09 หมู่บ้าน 3,876 คน
9. ท่าวังผา (Tha Wang Pha) 13 หมู่บ้าน 5,794 คน
10. ผาทอง (Pha Thong) 04 หมู่บ้าน 4,131 คน
ประชากร
ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทเชื้อสายยวนเชียงแสน นอกจากนั้นยังมีชาวไทลื้อ ชาวม้ง ชาวเย้า และขมุ